ความคุ้มครองที่คุณคาดไม่ถึง ของ พ.ร.บ. รถยนต์
ประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ.รถยนต์ เป็นสิ่งที่รถยนต์ทุกคันที่ขึ้นทะเบียนจำเป็นต้องมี และเชื่อว่ายังมีหลายคนที่ไม่ยที่ยังไม่เข้าใจว่า พ.ร.บ. นั้นคืออะไร และมีความสำคัญต่อเราอย่างไร วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ พ.ร.บ. ประกันภัย รถยนต์กัน คุ้มครองอะไรให้กับเราบ้าง จากที่เคยได้มีการอธิบายเกี่ยวกับ พ.ร.บ. และประกันภัยรถยนต์เบื้องต้นไปบ้างแล้วนั้นว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ที่สนใจต้องการซื้อประกันรถยนต์ชั้นต่าง ๆ ครั้งนี้จึงขอรายละเอียดและความสำคัญของ พ.ร.บ รถยนต์ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ผู้ขับขี่จำเป็นต้องรู้ มานำเสนอให้ทุกคนได้รู้
พ.ร.บ. รถยนต์ คืออะไร
พ.ร.บ. รถยนต์ คือ ประกันภัยภาคบังคับ ตามพระราชบัญญัติ การคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายกำหนดให้รถยนต์หรือพาหนะทางบกทุกประเภทที่มีการจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก จะต้องทำ พ.ร.บ. รถยนต์ หรือ ประกันภัยภาคบังคับเพื่อคุ้มครองบุคคลเมื่อมีการเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้น โดยไม่คำนึงว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ฝ่ายผิดหรือไม่ก็ตาม โดยจะให้ความคุ้มครองในรูปแบบของเงินชดเชยและค่ารักษาพยาบาลตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากคุ้มครองผู้ที่ประสบอุบัติเหตุแล้วกฎหมายยังให้ใช้สำหรับการขยายเวลาในการต่อภาษีรถยนต์ประจำปีหรือที่เรียกว่าการต่อทะเบียนรถยนต์ สามารถต่ออายุได้ล่วงหน้า 3 เดือน และ มีความจำเป็นต้องต่ออายุ พ.ร.บ ตามกฎหมายทุกปี หากไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรถถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 10,000 บาทและจะต้องเก็บหลักฐานการต่อ พ.ร.บ. เอาไว้กับรถตลอดเพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อมีการขอตรวจสอบ ในปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้มีการติดตั้งแผ่นสี่เหลี่ยมบนกระจกรถยนต์หรือป้ายภาษี เพื่อใช้แสดงว่ารถยนต์ที่มีสัญลักษณ์ภาษีเป็นรถยนต์ที่ได้ทำประกันบังคับ จึงสามารถต่ออายุรถยนต์และมีป้ายภาษีได้
รถยนต์ได้รับยกเว้นไม่ต้องทำพ.ร.บ.
จากพระราชบัญญัติ การคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
รถเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาทและรถผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รถของสำนักพระราชวังที่จดทะเบียนและมีเครื่องหมายตามระเบียบที่เลขาธิการพระราชวังกำหนด
รถของกระทรวง ทบวง กรม เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด สุขาภิบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และราชการส่วนท้องถิ่นที่เรียกชื่ออย่างอื่น และรถยนต์ทหารตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร
รถอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เช่น รถที่จดทะเบียนในต่างประเทศและนำเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวโดยเจ้าของรถไม่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร เจ้าของรถต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย
ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ
1. ค่าเสียหายเบื้องต้น : จะได้รับค่าชดเชยภายใน 7 วัน โดยไม่จำเป็นต้องรอพิสูจน์ความผิด
กรณีบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลคนละไม่เกิน 30,000 บาท
กรณีได้รับความเสียหายต่อร่างกาย หรือทุพพลภาพคนละไม่เกิน 35,000 บาท
หากได้รับบาดเจ็บแล้วสูญเสียอวัยวะตามมาจะได้รับรวมกันคนละไม่เกิน 65,000 บาท)
กรณีเสียชีวิต จะได้รับค่าปลงศพ คนละไม่เกิน 35,000 บาท
(หากได้รับการรักษาพยาบาลแล้วแต่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จะได้รับไม่เกินคนละ 65,000 บาท ตามค่าใช้จ่ายจริง)
2. ค่าสินไหมทดแทน : เงินชดเชยที่จะได้รับเมื่อผ่านการพิสูจน์ความผิดแล้วว่าเป็นฝ่ายถูก
กรณีได้รับบาดเจ็บ ค่ารักษาพยาบาลเบิกตามจริงคนละไม่เกิน 80,000 บาท
กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือ ทุพพลภาพถาวร คนละ 200,000-300,000 บาท
กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าชดเชยเต็มสูงสุด คนละ 300,000 บาท
กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในฐานะผู้ป่วยใน จะได้รับค่าชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 20 วัน
ขั้นตอนการใช้สิทธิ์ขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นมีดังนี้
1. กรณีบาดเจ็บ : ให้ใช้ใบเสร็จรับเงินที่ได้จากโรงพยาบาลและสำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาหลักฐานอื่นที่ทางราชการออกให้ เพื่อเป็นหลักฐานของผู้ประสบภัย
2. กรณีได้รับบาดเจ็บแล้วต่อมาทุพพลภาพ : ให้ใช้เอกสารเช่นเดียวกับกรณีบาดเจ็บ มีเอกสารที่ต้องใช้เพิ่มเติมคือ ใบรับรองแพทย์ หรือหลักฐานอื่นๆ ที่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ประสบภัยทุพพลภาพจริง รวมถึงสำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวนหรือหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่าเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุรถยนต์จริง ๆ
3. กรณีเสียชีวิต : ให้ใช้สำเนามรณบัตร สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวนในการยื่นขอรับค่าเสียหาย
ขอบคุณภาพจาก realtimecarmagazine.com